ประวัติศาลเจ้าแม่เซ่งเนี้ย
(เพ็คเล่งตึ้ง)
ศาลเจ้าแม่เซ่งเนี้ย
ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 80 ปีก่อน โดยบรรพบุรุษชาวจีนโพ้นทะเล
ที่อพยพมาจากทางมณฑลตอนใต้ของประเทศจีน
เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในรัชสมัยรัชกาลที่ 6
“เจ้าแม่เซ่งเนี้ย” เป็นปางหนึ่งของเจ้าแม่ทับทิมซึ่งเป็นเทพเจ้าที่ชาวจีนตอนใต้ให้ความเคารพนับถือมาก
จนได้รับการขนานนามว่า “เจ้าแม่ทะเลใต้” ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์ทางด้านปกปักรักษาการเดินทางทางน้ำและท้องทะเล
และด้านโชคลาภค้าขาย โดยคำว่า “เนี้ย” ในภาษาจีนแปลว่า
“แม่” สันนิษฐานว่าบรรพบุรุษชาวจีนที่อพยพมาทางเรือจากทางตอนใต้ของประเทศจีนในสมัยโบราณจะต้องรอนแรมฝ่าภยันตรายทั้งพายุ
คลื่นลมและโรคร้ายมาเป็นเวลาแรมเดือนกว่าจะถึงแผ่นดินสยาม
ในขณะเดินทางคาดว่าคงจะมีการบนบานศาลกล่าวให้องค์ “เจ้าแม่เซ่งเนี้ย”
ได้โปรดคุ้มครองให้ตนเองและครอบครัว
รวมทั้งคณะเดินทางให้ประสบกับความปลอดภัย
แคล้วคลาดจากภยันตรายในท้องทะเลให้มีชีวิตมาถึงแผ่นดินสยามเพื่อมาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
ครั้นเมื่อเรือเดินทางอย่างปลอดภัยเข้าเขตราชอาณาจักสยาม
ก็แล่นเข้ามาถึงปากอ่าวแม่น้ำท่าจีน ผ่านตามลำน้ำขึ้นมาตามลำดับ
บรรพบุรุษก็ได้เลือกเอาชัยภูมิที่เป็นคุ้งน้ำในลักษณะท้องพญามังกรซึ่งเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง
เป็นที่พำนักอาศัยและก่อสร้างชุมชนขึ้น แต่ก็ยังได้คำนึงถึงพระคุณขององค์ “เจ้าแม่เซ่งเนี้ย” ที่ปกปักรักษาพวกตนมาจนอยู่รอดปลอดภัยจากการเดินทางแรมเดือนในท้องทะเล
จึงรวมตัวกันสร้างศาลเจ้าไม้เล็กๆ ตามกำลังศรัทธาที่มีในขณะนั้น
โดยหันหน้าลงสู่แม่น้ำท่าจีน เพื่อสักการะและเป็นที่ประดิษฐานองค์ “เจ้าแม่เซ่งเนี้ย” เทพเจ้าแห่งท้องทะเล และโชคลาภ
ตามที่ตนและคณะเดินทางได้บนบานศาลกล่าวไว้ขณะเดินทาง โดยตั้งชื่อศาลว่า ศาลเจ้าแม่เซ่งเนี้ย
(เพ็คเล่งตึ๊ง) ซึ่งคำว่า “เพ็คเล่งตึ๊ง” แปลความหมายว่า “ศาลเจ้าพญามังกรหยก” ตามชัยภูมิที่ตั้งศาลแห่งนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น